kindergarten1
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ตอนตั้งท้องลูกคนแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนบรรดาลูกศิษย์ชอบแซวว่า “น้องออกมาต้องเก่งภาษาอังกฤษแน่เลยมาเรียนกับคุณแม่ทุกวัน” ตอนนั้นก็เพียงแค่คิดว่าการที่เราใช้ภาษาอังกฤษอยู่ทุกวันในชั้นเรียนน่าจะมีผลทำให้ลูกรับรู้และคุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศได้ เพราะเคยอ่านหนังสือที่ตอนนี้ได้กลายเป็นหนังสือคลาสสิกด้านการเลี้ยงลูกไปแล้วที่ชื่อว่า รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว ของมาซารุ อิบุกะ แปลโดย ธีระ สุมิตร และ พรอนงค์ นิยมค้า ซึ่งทำให้เห็นว่าช่วงวัยทองในการเรียนรู้ของลูกในหลาย ๆ ด้านเริ่มตั้งแต่ในท้องแม่จนถึงวัยก่อนอนุบาล ตัวเองจึงพยายามทำตามคำแนะนำในหนังสือเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ของลูก ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้ภาษาที่สองคือภาษาอังกฤษ เมื่อมาเจอหนังสือเรื่อง เด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ ของคุณบิ๊ก พงษ์ระพี เจ้าของเว็ปไซด์ http://go2pasa.ning.com/ อันโด่งดังก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวอีกต่อไป

วันก่อนไปอ่านเจอบทความเรื่อง “The Power of the Bilingual Brian” โดย เจฟฟรี่ คลูเกอร์ (Jeffrey Kluger) ในนิตยสาร Time ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556 ยิ่งช่วยยืนยันความคิดเรื่องการสร้างลูกตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ บทความกล่าวถึงข้อดีของการเรียนรู้ภาษาที่สองที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และพลังทางสมองของลูก โดยผู้เขียนบทความได้ยกตัวอย่างโครงการเรียนภาษาที่สองของเด็กในวัยประถมของโรงเรียนต่าง ๆ ในรัฐยูท่าของสหรัฐอเมริกาซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี พ.. 2552 โดยเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เช่น ภาษาฝรั่งเศส สเปน จีน และโปรตุเกส สิ่งที่รัฐบาลมองไม่ใช่เพียงเรื่องการแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีโลก แต่สิ่งที่รัฐคำนึงถึงมากที่สุดมาจากผลการวิจัยเรื่องพัฒนาการทางสมองของเด็กสองภาษาที่แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองนั้นจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองที่ดีกว่าเด็กที่เรียนรู้เพียงภาษาเดียว ทั้งนี้มีผลการวิจัยจำนวนมากขึ้นที่แสดงให้เห็นว่่าเด็กที่เรียนรู้สองภาษาหรือมากกว่านั้นมีสมองที่แตกต่างจากเด็กที่เรียนรู้เพียงภาษาเดียว และความแตกต่างดังกล่าวนั้นล้วนส่งผลดีต่อสมองของเด็ก ผลการวิจัยหลาย ๆ ครั้งแสดงให้เห็นว่าคนที่ใช้ภาษาได้หลายภาษานั้นจะมีความสามารถในการใช้เหตุผลได้ดีกว่า สามารถทำงานได้หลายประเภท สามารถเรียนรู้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ทำงานได้เร็วกว่าโดยใช้พลังน้อยกว่า และเมื่ออายุมากขึ้นคนที่สามารถใช้ภาษาได้สองภาษาหรือมากกว่านั้นจะสามารถคงความจำได้นานกว่า และมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการเป็นโรคความจำเสื่อมรวมทั้งลดอัตราเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์ขั้นร้ายแรง บทความยังระบุอีกว่าผู้ที่รู้สองภาษานั้นไม่จำเป็นต้องมีสมองที่ฉลาดกว่าคนเรียนรู้ภาษาเดียว แต่การเรียนรู้สองภาษาหรือมากกว่านั้นจะทำให้สมองมีความยืดหยุ่นมากกว่า มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้ดีกว่า

CYMERA_20130911_201635
ภาพถ่ายของบทความส่วนหนึ่งจากนิตยสาร Time ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556 (July 2013)

ผู้เขียนบทความกล่าวว่าเมื่อเราพูดถึงการเรียนรู้ภาษาที่สองไม่มีสิ่งที่เรียกว่า เริ่มต้นเร็วเกินไปทั้งนี้ เพราะความสามารถในการเรียนรู้ภาษาของเด็กเริ่มขึ้นตั้งแต่เขาและเธออยู่ในท้องแม่กันเลยทีเดียว ในระยะที่สามของการตั้งครรภ์ทารกจะเริ่มพัฒนาความสามารถในการฟัง และเสียงที่ดังที่สุดที่ทารกในครรภ์จะได้ยินก็คือเสียงของแม่ซึ่งพูดภาษาใดภาษาหนึ่งหรือมากกว่านั้น ทารกจะเริ่มสร้างความคุ้นเคยกับลักษณะของหน่วยคำและท่วงทำนองของภาษาที่จะเริ่มถ่ายทอดจากแม่ไปสู่สมองทารกในครรภ์โดยตรง บทความได้ยกตัวอย่างการทดลองหลาย ๆ รูปแบบที่แสดงให้เห็นว่าเด็กทารกที่แม่ใช้สองภาษานั้นจะได้รับการกระตุ้นในการรับรู้ได้ดีกว่า เช่น มีการเปรียบเทียบอัตราการดูดนมของทารกที่มีอายุ 3 วันและต่ำกว่าที่มาจากครอบครัวสองภาษาคือภาษาอังกฤษและภาษาตากาล็อคและครอบครัวที่แม่ใช้อังกฤษเพียงภาษาเดียวโดยการเปิดเทปบันทึกเสียงของแม่ให้ฟัง เด็กทารกที่มาจากครอบครัวที่แม่ใช้สองภาษาจะดูดนมแรงขึ้นเมื่อได้ยินเสียงแม่พูดทั้งในภาษาอังกฤษและในภาษาตากาล็อค แต่ทารกที่มาจากครอบครัวที่แม่ใช้ภาษาเดียวจะดูดนมแรงเฉพาะเมื่อได้ยินเสียงของแม่ตัวเองในภาษาอังกฤษเท่านั้น นั่นเท่ากับว่าทารกมีความยืดหยุ่นและมีทางเลือกมากขึ้นในการตอบสนองต่อการเรียนรู้หากแม่ใช้สองภาษา

อีกตัวอย่างเป็นการทดลองในเด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไปว่าจะมีช่วงการสนองตอบต่อการรับรู้ภาษาที่แตกต่างกันนานเพียงใด ปรากฏว่าเมื่ออายุ 8 เดือนขึ้นไปเด็กที่ใช้ภาษาเดียวจะเริ่มไม่ให้ความสนใจและไม่ตอบสนองต่อเสียงที่เป็นภาษาอื่นและจะให้ความสนใจเฉพาะเสียงในภาษาที่ตนเองคุ้นเคยเท่านั้น ผลการทดลองนี้คงแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าทำไมเมื่อตอนเล็ก ๆ ลูก ๆ เราจะสามารถดูการ์ตูนภาษาต่างประเทศได้อย่างสนุกสนานโดยเขาไม่ได้สนใจว่าเป็นภาษาอะไร แต่เมื่อเด็กโตขึ้นหากไม่ได้รับการฝึกฝนให้ดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์เสียงภาษาต่างประเทศ เด็ก ๆ จะไม่ยอมดูการ์ตูนหรือรายการที่ไม่มีการพากย์เสียงภาษาไทย เนื่องจากเด็กไทยถูกปิดโอกาสในการรับฟังภาษาต่างประเทศอื่น ๆ มาตั้งแต่เล็ก ๆ เพราะมีการนำรายการภาษาต่างประเทศทุกอย่างมาพากย์เสียงเป็นภาษาไทยหมด ดังนั้นเด็ก ๆ จึงปฏิเสธที่จะดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์รวมทั้งรายการอื่น ๆ ที่เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ไปโดยปริยาย และนั่นก็ส่งผลให้เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่พอเจออะไรที่เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ เราก็ปฏิเสธที่จะฟังหรืออ่านรวมทั้งไม่ยอมพูดไปโดยปริยาย ดังนั้นหากการพากย์หนังภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยเป็นนโยบายของรัฐบาลในการปิดหูปิดตาคนไทยในประเทศก็ย่อมถือว่าเป็นนโยบายที่ได้ผลดีเยี่ยมเลยทีเดียว (พร้อมมีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์รองรับอีกต่างหากนะเนี่ยะ!)

บทความยังยกตัวอย่างการทดลองอีกมากมายที่ล้วนแสดงให้เห็นผลดีของการเรียนรู้ภาษาที่สองทั้งในวัยเด็กรวมทั้งการเรียนรู้ที่เริ่มเรียนในวัยผู้ใหญ่ หากท่านใดสนใจรายละเอียดคงหาอ่านได้ไม่ยากจากนิตยาสาร Time ฉบับดังกล่าว

รูปภาพ
ภาพประกอบจากส่วนหนึ่งในนิตยสาร Time ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556 (July 2013)

จากภาพประกอบของบทความจะเห็นว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มเรียนรู้ภาษาที่สองของลูกเริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ทารกแรกเกิดจะเริ่มรับรู้ภาษาของแม่ได้ และถ้าแม่พูดมากกว่าหนึ่งภาษาเด็กทารกก็จะสามารถแยกแยะความแตกต่างได้ แต่ที่่น่าตกใจคือเมื่อเริ่มอายุได้ 9 เดือนประตูในการเรียนรู้ภาษาที่สองแบบเป็นธรรมชาติจะเริ่มปิดตัวลง การเรียนรู้หลังจากนั้นโดยเฉพาะหลังจาก 6 ขวบจะเป็นการเรียนรู้ที่เด็กต้องใช้ความพยายามมากขึ้น แต่กระนั้นก็ตามเมื่อยังอยู่ในวัยเด็กนั้นความสามารถในการเรียนรู้ภาษาที่สองหรือที่สามของเด็กก็ยังดีกว่าเด็กในวัยรุ่นหรือคนในวัยผู้ใหญ่อย่างมาก

ดังนั้นหากพ่อแม่หรือผู้ปกครองท่านใดที่ตั้งใจจะพัฒนาภาษารวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพทางสมองของลูกหลาน คงต้องเริ่มเตรียมการกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังที่ในบทความได้แสดงให้เห็นว่ายิ่งเด็กเท่าไหร่การเรียนรู้ของเขาก็จะเป็นธรรมชาติมากขึ้น และจากประสบการณ์ของตัวเองในการสอนลูกให้พูดภาษาที่สองตั้งแต่เด็กจะเห็นได้เลยว่าลูกไม่ต้องทนทุกข์ทรมานในการขวนขวายท่องศัพท์ เรียนไวยากรณ์กันอย่างเอาเป็นเอาตาย เขาจะสามารถเรียนรู้ภาษาที่สองหรือสามหรือสี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสนุกสนาน พ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดที่เริ่มแล้วก็คงเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นไม่ใช่ความรู้ทางภาษาของพ่อแม่เพราะเราสามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกได้ ดังที่สมาชิกในหมู่บ้านสองภาษาใน http://go2pasa.ning.com/ ได้แสดงเป็นตัวอย่างที่ดีไว้อย่างมากมาย พ่อแม่ที่ภาษาอังกฤษไม่กระดิกเลยก็สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอเพียงให้เรามีความมานะบากบั่นและความตั้งใจอย่างแน่วแน่ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือความสม่ำเสมอในการสอนลูกและการเรียนรู้อย่างจริงจังและพร้อมจะพัฒนาตัวเองของพ่อแม่ และในทางตรงกันข้ามพ่อแม่ที่มีความรู้ภาษาที่สองหรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถ่ายทอดให้กับลูกตั้งแต่เล็ก ลูกเราก็จะเสียโอกาสในการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติและง่าย ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย เราต้องยอมรับว่าภาษาไม่ใช่พันธุกรรมดังนั้นจึงไม่สามารถถ่ายทอดผ่านทางดีเอ็นเอได้ ต่อให้พ่อแม่เก่งภาษาที่สองหรือภาษาต่างประเทศอย่างไร ถ้าไม่สอนให้ลูกโดยเริ่มจากการพูดกับลูกอย่างเป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ ก็ต้องไปขวนขวายเอาเองทีหลัง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นลูกอาจจะถามเราว่าทำไมพ่อแม่ไม่สอนหนูตั้งแต่เล็ก ๆ ก็เป็นได้

เราพูดกันมากมายเรื่องความล้มเหลวในการจัดการเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ รวมทั้งการจัดการศึกษาด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย เราไม่ได้โชคดีเกิดมาในประเทศที่คนในภาครัฐโดยเฉพาะนักการเมืองมีความรักชาติและความเสียสละในการสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติอย่างในบ้านเมืองอื่นบางประเทศ แต่เรามีคนในชาติที่มีความรู้ความสามารถมากมาย หากเราร่วมมือกันสร้างสรรค์ประเทศของเราจากพลังของมวลชน เลิกบ่นและก่นด่ารัฐบาลซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่ยุคกี่สมัยก็ยังเหมือนเดิม และหันมาเริ่มงานภาคประชาชน โดยเริ่มจากการสร้างสรรค์คนในครอบครัวของเราให้เป็นองค์ประกอบที่มีคุณภาพของสังคม เราคงสามารถช่วยกันนำพาประเทศชาติของเราไปให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศได้ แต่คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ตัวพ่อแม่ด้วยเช่นกันว่าทุกวันนี้เรายังวนเวียนอยู่ในกระแสสังคมที่ฟอนเฟะ ปลูกฝังลูกให้ชื่นชมแต่สิ่งไร้สาระในชีวิต ทำตามค่านิยมผิด ๆ ที่มีแต่นำเราไปสู่ความหายนะ มีอะไรก็โทษโชคชะตาฟ้าดินไปวัน ๆ หรือเราจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมโดยเริ่มจากคนในครอบครัวของเราเอง (เอ๊ะ เริ่มจากเรื่องภาษาทำไมมาจบที่เรื่องการเมืองและสังคมจนได้หล่ะเนี่ยะ!)

แนะนำ Websites:

ดาวน์โหลดหนังสือ รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว ได้ใน http://www.momyweb.com/forums/index.php?topic=926.0

ร่วมเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์สอนลูกสองภาษาได้ที่ http://go2pasa.ning.com/

อ่านบทความเรื่อง “The Power of the Bilingual Brain” ฉบับเต็มได้ใน http://www.graniteschools.org/JQuery%20Images/Supporting%20Documents/time-bilingual-brain-article.pdf (ขอบคุณคุณนิดา เพ็ชรทองคำ ที่แนะนำลิงค์มาให้ค่ะ)

หรือจากนิตยสาร Time ใน http://content.time.com/time/covers/asia/0,16641,20130729,00.html (แต่อันนี้ต้องสมัครสมาชิกนะคะ)